เลี้ยงปลาทองมาเลย์อย่างไรให้เกล็ดเปิดสูง

เลี้ยงปลาทองมาเลย์อย่างไรให้เกล็ดเปิดสูง

บทความนี้ไตร่ตรองอยู่นานว่าจะเขียนดีหรือไม่ อันนี้ต้องบอกเหมือนกับบทความเรื่องแนวทางเลี้ยงปลาแดงนะครับว่า…คงไม่สามารถทำให้ปลาทองมาเลย์เปิดได้สะใจระดับเดียวกันทุก ๆ ตัว แต่ค่อนข้างมั่นใจครับว่าทำให้เกล็ดเปิดเร็วกว่าวิธีการเลี้ยงปกติแน่นอนครับ

แนวทางนี้จริง ๆ แล้วผมพูดได้เลยว่าปัจจุบันทุก ๆ ฟาร์มก็เลี้ยงปลาทองมาเลย์ในแนวทางนี้ทั้งนั้นครับ แล้วเอาตัวที่เปิดสูง ๆ มาขายในราคาที่แพงขึ้น

แต่….แนวทางนี้อาจจะไม่เหมาะกับผู้เลี้ยงที่มีปลาทองมาเลย์แค่ตัวเดียวนะครับ เพราะดูแล้วมันเป็นทุกข์ชอบกลในการเลี้ยง โดยส่วนตัวผมได้ลองนำปลาทองมาเลย์เกรดธรรมดาที่ไม่ได้เปิดสูงอะไรเลย คือเกล็ดเปิดแค่ 4 แถวเมื่อขนาด 8-9 นิ้ว หลังจากได้เลี้ยงในแนวทางนี้…ปรากฏว่าแค่ระยะเวลาไม่กี่เดือนเกล็ดแถวห้าก็เปิดกันหมดทั้ง 3 ตัว ในขณะที่หนึ่งในนั้น..เกล็ดแถวหกก็มีเปิดบางประปราย

เราลองมาดูกันดีกว่าว่าแนวทางเลี้ยงปลาทองมาเลย์ให้เปิดสูงนั้นทำอย่างไร

อันดับแรก ตู้ต้องเปิดด้วยสติ๊กเกอร์ขาว 3 ด้าน (ข้าง-หลัง-ข้าง) ส่วนก้นตู้นั้นเราวางบนโฟมซึ่งเป็นพื้นขาวอยู่แล้วไม่มีปัญหา ในส่วนด้านหน้านั้นใช้ฟิวเจอร์บอร์ดปิดแทน เผื่อเราจะได้เปิดดูปลาบางเวลาให้อาหาร เป็นต้น

อันดับสอง ต้องพยายามควบคุมไม่ให้อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส

อันดับสาม ระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ 1 อาทิตย์ต่อครั้งที่ 30%

อันดับสุดท้าย พยายามให้ปลาทองมาเลย์โดนไฟน้อยที่สุด นั้นคือไม่เปิดไฟในตู้เลย

เท่าที่มองรวม ๆ จะเห็นว่าเป็นการเลี้ยงปลาแบบที่เราไม่ได้เห็นปลาว่ายไปมาเลย ตรงนี้แหละทำให้ดูเหมือนว่าดูแล้วมันเป็นทุกข์ชอบกล เพราะจริง ๆ แล้วถ้าเราเลี้ยงปลาตามปกตินั้น อย่างไงเมื่อปลามีอายุมากขึ้น ปลาก็จะเปิดสูงขึ้นเองอยู่แล้ว

อีกอย่างก็คือ…ปลาจะสีซีดมากกก ดูขาวโพลนไปทั้งตัว บางคนก็ว่าสวยดี บางคนบอกว่ารับไม่ได้เพราะปลาดูจืดมากกก

โดยฟาร์มแนะนำว่าเราควรเลี้ยงปลาทองมาเลย์ด้วยวิธีนี้สัก 1-2 ปีแรก แต่โดยส่วนตัววมองว่า…ก็แล้วแต่ผู้เลี้ยงแหละครับ แค่ไหนแค่นั้นครับ

หลังจากที่เราพอใจในตัวปลาที่เกล็ดเปิดสูงขึ้นแล้ว แค่เราย้ายปลาไปเลี้ยงในตู้ดำ หรือใส แล้วเปิดไฟเลี้ยงปลาตามปกติ ไม่นานครับ..แค่ 2-4 สัปดาห์ปลาทองมาเลย์เราก็จะปรับสีตัวเหมือนปกติครับ ไม่ได้ขาวซีดตลอดไป

ถ้าจะสรุปคร่าว ๆ ก็คือ ตู้ขาวปิดหมด ไร้ไฟไร้แสง ควบคุมอุณหภูมิ และเปลี่ยนถ่ายน้ำสม่าเสมอ

เพื่อน ๆ ลองไตร่ตรองดูก่อนนำไปใช้นะครับว่าสมควรไหมถ้าจะนำมาปรับเลี้ยงกับปลาทองมาเลย์ของเรา ยิ่งถ้าเรามีปลาตัวเดียว แต่ต้องปิดตู้เอาไว้ ดูก็ไม่ได้ดู จะเปิดดูปลาทีก็ปลาซีด ๆ ชอบกล ทั้งหมดก็แลกกับการที่ปลาทองมาเลย์มีเกล็ดเปิดสูงและเร็วขึ้น…ลองไตร่ตรองดูครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก Pantown ครับ

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com

เคล็ดลับการเลี้ยง”ปลามังกร”ให้โตเร็ว

สวัสดีครับ
วันนี้ไปเจอเรื่องราวดีๆครับ เลยเอามาแบ่งปันกันนะครับ

เคล็ดลับการเลี้ยง”ปลามังกร”ให้โตเร็ว

ปลามังกรจัดเป็นปลาที่มีราคาแพงทั้งในประเทศแลละต่างประเทศ ซึ่งถ้าได้เกณฑ์มาตรฐานแล้วราคาอาจสูงถึงหลักล้านเลยทีเดียว ผู้เลี้ยงปลามังกรหลายท่านเชื่อว่า ถ้าเลี้ยงแล้วจะมีโชคลาภ จึงทำให้ความนิยมในการเลี้ยงปลามังกรไม่เคยตกลงเลย มีผู้เลี้ยงบางท่านยอมลงทุนอย่างมากเพื่อที่จะได้ปลาชนิดนี้มาเลี้ยงโดยไม่ ต้องคอยลุ้นว่าเมื่อไหร่ปลามังกรตัวโตๆจะมีเกล็ดมันวาว แต่สำหรับบางท่านที่ต้องการเห็นตั้งแต่ตัวเล็กๆจนปลามังกรค่อยๆโตขึ้น เราก็มีเคล็ดลับง่ายๆในการเลี้ยงให้ปลามังกรโตเร็วและมีสุขภาพที่แข็งแรง ด้วยวิธีง่ายๆและมีปัจจัยหลักๆดังนี้

อาหาร สารอาหารที่มีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของปลามังกร คือ โปรตีน และแคลเซียม สารอาหารเหล่านี้เราหาได้จาก ปลา นั่นเอง ดังนั้นการให้ลูกปลาเป็นอาหารจะให้ผลดีที่สุด แต่ก็ควรสลับกับอาหารชนิดอื่นๆบ้าง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารชนิดนี้ควรล้างและลวกซะก่อน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อบางชนิด บางท่านให้กินแมลงสาบเป็นอาหาร ซึ่งวิธีนี้ควรทบทวนให้ดี เพราะแมลงสาบเป็นพาหะอย่างหนึ่งที่จะนำเชื้อโรคเข้าสู่ตัวปลา  ส่วนการให้ปลากินอาหารนั้น ควรให้ในปริมาณน้อยๆแต่ให้ถี่ๆ แต่คงจะยากสำหรับคนที่ไม่มีเวลามากพอที่จะนั่งเฝ้าดูปลากินอาหารทั้งวัน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ขอแนะนำให้ฝึกปลากินอาหารให้เป็นเวลาจะดีที่สุด

อากาศ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปลาแข็งแรงสมบูรณ์ และทำให้ปลากินอาหารได้มากขึ้น ดังนั้นควรเปิดแอร์ปั๊มในตู้อยู่ตลอดเวลา

น้ำ น้ำที่ดีที่สุดควรเป็นน้ำประปาที่ผ่านการกรองมาแล้วไม่ต่ำกว่า 24 ชม. pH ควรอยู่ที่ 6.5-6.8 ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ 20-30% ของน้ำในตู้ทุกๆเดือน จะทำให้ปลารู้สึกสดชื่นกระตือรือร้นทันที

อุณหภูมิ ไม่ควรปล่อยให้ต่ำเกินไป เพราะจะทำให้ปลากินอาหารได้น้อย ควรรักษาอุณหภูมิในตู้ให้คงที่

สภาพแวดล้อม จัดสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด จะทำให้ปลาไม่ตื่นกลัว และสามารถกินอาหารได้มากขึ้น

โรคภัย โรคปลาจะเกิดขึ้นได้ ถ้าหากผู้เลี้ยงละเลยปัจจัยทั้ง 5 ที่กล่าวมา และการสังเกตปลาเป็นโรคเบื้องต้น ให้สังเกตการกินอาหาร และการว่ายน้ำ ถ้ามีอาการช้าลงแสดงว่าปลาเริ่มเป็นโรคแล้ว ควรหาวิธีแก้ไขให้เร็วที่สุด
เพียงแค่ท่านปฏิบัติตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้ ท่านก็จะได้เห็นปลามังกรที่โตเร็วและแข็งแรงเป็นผลตอบแทน
ขอบคุณข้อมูลจาก Fish Zone ฉบับที่ 45

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com

3 สิ่ง เลี้ยงปลาให้ประสบความสำเร็จ

สวัสดีครับ

ปลามังกรสายพันธ์เอเชีย หรือ ปลาอโรวาน่าเรียกได้ว่าเป็นราชาแห่งปลาสวยงาม ที่ได้รับความนิยมและยอมรับจากนักเลี้ยงปลาสวยงามทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำที่มีท่วงท่าที่สง่างามมีพลังดุจมังกรร่อน เกล็ดที่มีสีดั่งทองคำบริสุทธิ์ในสายพันธ์ปลาสีทอง แดงดั่งเลือดนกในสายพันธ์ปลาแดง และหากจะกล่าวว่าเหมือนดั่งทองคำที่ลอยอยู่ในน้ำก็ไม่ผิดเพี้ยนอีกทั้งพี่น้องเชื้อสายจีนที่มีความเชื่อในปลาชนิดนี้ หากบ้าน/ที่ทำงานใด ได้เลี้ยงไว้ในบ้าน ณ.บริเวณที่ถูกต้อง มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมแล้ว จะสามารถดลบันดาลให้ผู้เลี้ยงและครอบครัวมีความสุขความเจริญในหน้าที่การงานยิ่งๆขึ้น กลับกันหากเลี้ยงดูไม่ถูกวิธีไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควรแล้วก็อาจทำให้พาลพบกับความยุ่งยาก หรือความวุ่นวายในการดำเนินชีวิตได้ปลามังกรจึงนับได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นมงคลต่อผู้เลี้ยงทั่วไปครับ ดังนั้นการที่เราผู้เลี้ยงปลาสวยงามจะได้เลี้ยงปลามังกร หรือปลาสวยงามชนิดอื่นใดแล้ว ควรที่จะศึกษาหาความรู้ในการเลี้ยงปลาชนิดนั้นๆอย่างถ่องแท้ เข้าใจถึงธรรมชาติของปลา จะทำให้เรามีความสุขในการเลี้ยงปลาครับ

ปลามังกร (Arowana)เป็นปลาที่มีความแข็งแรงพอสมควรครับ ไม่ค่อยจะเจ็บป่วยง่ายเหมือนกับปลาชนิดอื่นๆ หากเลี้ยงอย่างถูกวิธี น้ำที่เหมาะสมอยู่ช่วง 6.5-7.5 ครับ อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 27-29 องศาเซลเซียส สามารถทนต่อแอมโมเนีย ไนไตร์ท และ ไนเตรท ได้ในระดับหนึ่ง ด้วยปลาชนิดนี้เป็นปลากินเนื้อล่าเหยื่อในธรรมชาติอาหารหลักของเขาหนีไม่พ้นจำพวกสัตว์น้ำ แมลง ที่มีขนาดเล็ก โดยเราสามารถปรับปลาบางตัวให้ปลากินอาหารที่ตายแล้วได้ แต่ปลาบางตัวนั้นไม่ยอมรับอาหารที่ตายแล้ว จะกินเฉพาะที่ยังมีชีวิตเท่านั้น ส่วนอาหารเม็ดนั้นมักไม่ค่อยกิน หรือกินได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งไม่ได้ผลเท่าใดนัก เพราะหากตัดสินใจเลี้ยงปลาชนิดนี้ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของเขาครับ

ปลาสวยงามที่เราเลี้ยงไว้นั้น มันสื่อสารกับเราไม่ได้ครับ ไม่ว่าเราจะใส่อะไรลงไป ปลาจะได้ผลกระทบอย่างแน่นอน เราเองก็ไม่รู้ว่าใส่ไปแล้วมันชอบหรือไม่ ดีหรือไม่ ปลาบอกเราไม่ได้ ครับเพราะฉะนั้นเมื่อเราต้องใส่อะไรลงไปไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา อาหารเสริมวิตามินต่างๆ นั้น ต้องแน่ใจว่าสิ่งนั้นไม่ทำอันตรายกับตัวปลา และให้ประโยชน์กับตัวปลาเท่านั้นครับ ไม่แน่ใจอย่าใส่อย่าเดาครับเพราะนั่นหมายถึงชีวิตปลาทีเดียว หลายคนเสียปลาไปเพราะเรื่องนี้ ก่อนใส่ควรปรึกษาผู้รู้เรื่องอย่างดีนะครับ จะได้ไม่เสียใจภายหลังส่วนตัวผมแล้วการเลี้ยงปลาที่ประสบความสำเร็จได้ต้องมี 3 อย่างครับ ผมมักที่จะให้ความสำคัญกับตัวแปร 3 ตัวคือ

1.น้ำ ต้องเป็นน้ำที่ได้คุณภาพเบื้องต้นที่ดีครับ ที่ดีหมายความว่า ควรเป็นน้ำที่ผ่านการกรอง,มีการพักน้ำการบำบัดคลอรีนแล้ว เป็นน้ำที่เหมาะกับปลาชนิดนั้นๆ ถ้าน้ำไม่ดี ส่วนที่เหลือก็ไม่สามารถทำให้ระบบทำงานหรือการเลี้ยงดีได้ครับ และแย่ที่สุดก็อาจทำให้เราเสียปลาไปได้ในระยะเวลารวดเร็วครับ อย่าเสี่ยงเพราะคิดว่าน้ำมีคลอรีนนิดหน่อยคงไม่เป็นไร และหากไม่จำเป็นแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาปรับสภาพน้ำ หรือน้ำยาลดคลอรีนนะครับ เพราะบางกรณีไม่มีความจำเป็น และ เสียเงินเปล่าประโยชน์ครับ น้ำนับเป็นส่วนที่ผมให้ความสำคัญที่สุดในระบบครับ

2.อุณหภูมิ ปลาที่แข็งแรงกินดีนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งจะอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมและคงที่ อุณหภูมิที่เหมาะสมกับปลาสายพันธ์นั้นๆ เราต้องศึกษาครับว่าปลาชอบน้ำเย็น น้ำอุ่น อย่างใด คำว่าอุณหภูมิคงที่หมายถึงเราสามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากในแต่ละวัน เช่น เช้า 25 องศาเซนเซียส บ่าย 26 เย็น 27 อย่างนี้พอรับได้ครับ แต่ถ้าเช้า 25 บ่าย 30 เย็นกลับมา 25 อีก อย่างนี้ปลาเครียด อาจได้ของแถมเป็นอาการป่วยอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าหากระบบเล็ก ตู้ปลาเล็กแล้ว โอกาสที่อุณหภูมิจะแก่วงนั้นยิ่งมีมาก ตรงนี้จำเป็นครับที่เราต้องมีระบบช่วย มีฮีตเตอร์ควบคุม

3.ระบบกรอง นึกภาพว่าเพื่อนๆอยู่ในห้องแคบต้องกินและขับถ่ายออกมา หากไม่มีระบบกำจัดของเสีย ไม่มีระบบย่อยของเสียแล้ว ไม่นานสิ่งที่ขับถ่ายจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มห้อง สุดท้ายก็ทำให้ไม่สบาย เจ็บป่วยได้ ย้อนมาดูตู้ปลา หากไม่มีระบบกรองที่ดี วัสดุกรองที่มีประสิทธิภาพ ระบบที่เพียงพอต่อการบำบัดน้ำในตู้อย่างเหมาะสมกับจำนวนและ ชนิดของปลาแล้ว ก็อาจทำให้ปลาของท่านไม่สดชื่น มีอาการเครียดและป่วยบ่อยดังนั้นผมมีความเชื่อว่าถ้าหากเรามีวินัยในการเลี้ยงดู การดูแลเรื่องน้ำ อุณหภูมิ ระบบกรอง ที่ดีแล้วปลาที่เราเลี้ยงก็จะมีความสุข ไม่เครียด และป่วยน้อยลงครับ สำหรับบทความข้างต้นนั้นเป็นประสบการณ์การเลี้ยงของผมเองครับ อาศัยว่าเลี้ยงก่อนรู้ก่อน เลี้ยงทีหลังรู้ทีหลัง แน่นอนว่าย่อมมีคนเลี้ยงก่อนผมรู้มากกว่าผมครับ ดังนั้นขอให้คิดว่าเป็นคำแนะนำจากผู้เลี้ยงปลาสวยงามด้วยกันนะครับขอให้มีความสุขในการเลี้ยงปลาครับ

ขอบคุณบทความจากคุณ E20ngx

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com

สวัสดีครับ

หลังจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ลงข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับปลาอโรวาน่าไป
ได้มีผู้เลี้ยงหลายท่านได้เข้ามาอ่านและสอบถามมากับผมบ้าง
ซึ่งผมก็อธิบายได้บ้างไม่ได้บ้าง เนื่องจากว่ามันเป็นข้อมูลเชิงวิชาการจริงๆ
อันนี้ต้องขออภัยเพื่อนๆผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่าด้วยนะครับ

สัปดาห์นี้ ผมจึงลงข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่จะเกิดขึ้นได้กับปลาอโรวาน่าที่รักของพวกเรานะครับ
ข้อมูลนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่าสนใจหรือสงสัยอันใด
ผมสามารถให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำที่ดีได้อย่างแน่นอนครับ

สารพัดโรคภัยเบียดเบียนปลามังกร

ไม่ว่าเราจะใส่ใจดูแลปลามังกรตัวโปรดอย่างดีเพียงใด ก็ยังมีโอกาสที่ปลาอะโรวาน่าจะต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ โรคใดโรคหนึ่งในสารพัดโรคต่อไปนี้ ซึ่งสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นเลี้ยงปลาอะโรวาน่า บทความต่อไปนี้ ศึกษาไว้ไม่เสียประโยชน์แน่นอน

โรคเหงือก เป็นหนึ่งในโรคยอดฮิตที่ชอบเกิดกับปลาอะโรวาน่า ผู้เลี้ยงปลาอะโรวาน่าที่มีประสบการณ์ไม่มากพอจะมีโอกาสพบเจอกับโรคเหงือกมากกว่า 80% สาเหตุของโรคเหงือมีที่มาไม่แน่นอน แต่ส่วนมากจะมาจากคุณภาพน้ำไม่ดี ค่า pH สูงหรือต่ำเกินไป ตู้ปลาขาดการดูแล ของเสียเยอะ ไม่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ออกซิเจนภายในตู้ไม่เพียงพอ และอุณหภูมิน้ำสูงหรือต่ำเกินไป โรคนี้ถ้าเกิดขึ้นแล้วรักษาให้หายยากอีกด้วย ถ้าเป็นระยะแรกๆ ก็พอแก้ไขได้ แต่หากเป็นหนัก ๆ บางกรณีอาจต้องถึงกับทำศัลยกรรม หรือยิ่งไปกว่านั้นก็ไม่สามารถรักษาได้ เป็นรอยตำหนิตลอดไป ซึ่งโรคเหลือที่ว่านี้มี 4 แบบ คือ เหงือกอ้า (หรือเหงือกบาน) เหงือกหุบ เหงือกพับ และเหงือกบุ๋ม

โรคตาตก เกิดจากมีไขมันในเบ้าตาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ดันลูกตาตกลงมา สาเหตุหลัก ๆ ที่พอสันนิษฐานได้ของโรคนี้ คือ 1. การให้อาหารประเภทไขมันมากเกินไป 2. การให้เหยื่อประเภท “กุ้งฝอย” สาเหตุนี้เกิดตรงที่เวลาปลามองหากุ้งก็จะมองที่บริเวณพื้นตู้ สอดส่วยไปมาทั่วตู้ นานเข้าก็ทำให้เกิดอาการตาตกได้ 3. ส่วนสาเหตุสุดท้ายก็คือ จากกรรมพันธุ์ ปลามังกรที่ตาตกจากกรรมพันธุ์ มักมีอาการตั้งแต่เล็กคือ 6 นิ้วก็เห็นอาการแล้ว

โรคเกล็ดพอง โรคนี้ส่วนมากเป็นในปลาเล็กขนาดไม่เกิน 8 นิ้ว โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากน้ำสกปรก มีค่าของเสียมาก และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างฉับพลัน ลักษณะอาการก็คือ “เกล็ดจะเปิดอ้าออก” โรคนี้ถือเป็นโรคอันตรายที่อาจทำให้ปลามีโอกาสตายสูง

โรคแผลอักเสบ โดยปกติแล้วแผลอักเสบมักจะเป็นที่บริเวณใต้เกล็ดปลา โดยสังเกตได้จากจะมีรอยจ้ำเลือดแดง ๆ หรือมีสีน้ำตาลคล้ำ อาการส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในซอกเกล็ดปลา

โรคหนวดปลาหมึก โรคนี้แม้จะไม่อันตรายนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตติดอันดับ โดยมีลักษณะคือ ที่หนวดของปลาจะหงิกงอและมีตุ่มขึ้น ซึ่งดูโดยรวมแล้วเหมือน “หนวดปลาหมึก” สาเหตุสำคัญของโรคนี้ก็คือ ตู้สกปรกมีคราบเปื้อนมาก ปลามี่มีนิสัยชอบเล่นหน้าตู้โดยใช้ปากถูกไถกับตู้เป็นประจำ ประกอบกับตู้สกปรก จึงทำให้เกิดการติดเชื้อจนมีอาการดังกล่าวด้วย

โรคเกล็ดกร่อน โรคนี้มีสาเหตุมารจากในน้ำมีเชื้อโรค และเชื้อดังกล่าวจะค่อย ๆ ไปกัดกินเกล็ด ทำให้เกล็ดปลาดูเหมือนบิ่น แตกหัก หรือเสียรูปไป โรคนี้แม้ไม่ได้ทำอันตรายกับตัวปลาโดยตรง แต่ถ้าหากปล่อยไว้นานเข้า เกล็ดก็จะถูกกัดกร่อนลงไปเรื่อย ๆ

โรคเชื้อรา เป็นโรคยอดฮิตอีกโรคหนึ่ง ถือว่าเป็นกันบ่อย และจะแสดงออกโดยมี “รอยด่าง” หรือ “เปื่อย” ตามจุดต่าง ๆ เชื้อราแม้อาจไม่รุนแรงทำให้ปลาถึงตาย แต่ก็ส้างความรำคาญให้ปลาไม่น้อย ถ้าเป็นหนักเข้า อาจมีโรคแทรกซ้อนเข้ามาติดเชื้อแล้วลุกลามเข้าไปใหญ่ จนท้ายสุดก็อาจถึงตายได้

โรคตาขุ่น โรคตาขุ่นมาจาก 2 สาเหตุสำคัญคือ ติดเชื้อจากกรณีตาบาดเจ็บ (อาจจากรอยขีดข่วนหรือถูไถกับอุปกรณ์บางอย่างภายในตู้) และน้ำสกปรกเกินไป มีคราบของเสียภายในตู้เป็นจำนวนมาก ปริมาณออกซิเจนในตู้มีน้อยเกินไปก็เป็นอีกสาเหตุเช่นกัน โรคตาขุ่นจะมีลักษณะแก้วตาเป็นสีขาวขุ่น ๆ ไม่เห็นลูกตาดำ

โรคริดสีดวง ลักษณะของโรคนี้ก็คือจะมี “ติ่งสีชมพูอมแดง” ยื่นออกมาจากช่องทวาร ทำให้การขับถ่ายของปลาเป็นไปอย่างลำบาก สาเหตุของริดสีดวงเกิดจากระบบขับถ่ายของตัวปลาไม่ดี และเมื่อกินอาหารชิ้นใหญ่หรือประเภทย่อยยากไปมาก ๆ ก็ทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา ผลจึงเกิดเป็นติ่งริดสีดวง

โรคจุดขาว โรคนี้เป็นโรคที่คนเลี้ยงปลาสวยงามคุ้นเคยกันดี สำหรับสาเหตุของโรคนี้ในปลาอะโรวาน่านั้น มักมาจากเพื่อนร่วมตู้หรือปลาเหยื่อ อาการของโรคจุดขาวจะมีลักษณะเป็นจุดขาว ๆ ขึ้นตามเกล็ดและครีบส่นต่าง ๆ ถ้าหากปลาของเราเริ่มที่จะมีอาการนี้ ให้แยกปลาอื่นที่น่าสงสัยออกไป แล้วทำการรักษาทั้งอะโรวาน่า และปลาเหยื่อเพื่อนร่วมตู้

ทั้ง 10 โรคที่ยกมา ล้วนเป็นโรครที่นิยมเกิดกับปลาอะโรวาน่า ซึ่งหากพิจารณาถึงปัจจัยของการเกิดโรคทุกโรคนั้น ผู้เลี้ยงดูจะเป็นปัจจัยแห่งการเกิดโรคภัยต่าง ๆ ขึ้นกับปลากมาที่สุด โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยง ขาดการดูแลเอาใจใส่ ส่วนสาเหตุจากตัวปลามีน้อยมาก ดังนั้น หากผู้เลี้ยงให้ความสำคัญในการเลี้ยงดู โอกาสที่ปลาอะโรวาน่าตัวโปรดจะเกิดโรคภัยมาบั่นทอนให้ชีวิตสั้นลงนั้นก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

ขอบคุณข้อมูลจากโลกสัตว์เลี้ยงครับ

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com

แนวทางการจำแนก เอเชียอโรวาน่า เิชิงวิชาการ

สวัสดีครับ

หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับ ปลาอโรวาน่า เชิงวิชาการ ไปแล้ว
มีผู้เลี้ยงหลายท่านได้เข้ามาอ่าน
สัปดาห์นี้จึงคิดว่า อยากจะลงข้อมูลเชิงวิชาการอีกซักหน่อยนะครับ

ข้อมูล แนวทางการจำแนก เอเซียอโรวาน่า เชิงวิชาการนี้
ได้มาจาก คุณจิรขัย ในเว็บบอร์ดของ pantown ครับ
ผมคิดน่าจะมีประโยชน์พอสมควร
กับทั้งผู้เลี้ยงปลาอโรวาน่ามานานแล้วหรือว่าผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นเลี้ยงปลามังกรครับ
ยังไงลองศึกษาดูนะครับ

เริ่มแรก ผมคงจะต้องขอชี้แจงว่า รายงานการบรรยายนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์นำไปสู่การขัดแย้ง
เพียงต้องการสื่อให้ทราบว่า ณ.ปัจจุบันกลุ่มปลาชนิดนี้มีการจำแนกออกมาจากเดิมคือจาก Scleropages formosus (Müller & Schlegel 1844) ที่ใช้เรียกรวม อะโรวาน่าทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด จำแนกเพิ่มออกมาอีก ชนิด และผลจากการจำแนกนี้เป็นที่ยอมรับกันทางสากล รายงานการบรรยายนี้หลายท่านคงมีการดาวน์โหลดไว้แล้ว
ในส่วนนี้ผมจึงขอนำมาเขียนให้กับผู้ชมที่ไม่มีเวลามานั่งแปล หรือ ไม่ทราบรายละเอียดในโครงสร้างของปลาบางอย่าง หากขาดตกบกพร่องประการใด ผมขอโทษไว้ ณ.ที่นี้ด้วยน่ะครับ.

จากรายงาน ณ.ปัจจุบัน เอเชียอะโรวาน่ามีการจำแนกออกเป็น ชนิดดังต่อไปนี้ครับ.
1) Scleropages formosus (Müller & Schlegel 1844) 
2) Scleropages aureus Pouyaud, Sudarto & Teugels 2003 
3) Scleropages macrocephalus Pouyaud, Sudarto & Teugels 2003 
4) Scleropages legendrei Pouyaud, Sudarto & Teugels 2003 

ในการจำแนกจากลักษณะภายนอกของปลาเอเชียอะโรวาน่า เท่าที่ดูจากในรายละเอียด ทางอาจารย์ผู้บรรยายจะพูดถึง ความยาวของกระดูกขากรรไกรบน(The upper jaw length.) จำนวนเกล็ดเส้นข้างลำตัว (lateral line scales.) ; จำนวนก้านครีบต่างๆ ( Rays.) หรือจะเทียบเป็น %ของความยาวส่วนต่างๆตามร่างกาย ต่อ ความยาวมาตรฐาน เช่น ความยาวมาตรฐาน หรือ ความยาวส่วนหัว เป็นต้น.

  • Scleropages formosus (Müller & Schlegel 1844) สะ- เคลอร์-โอ-พา-กีส ฟอร์-โม-ซัส 

ฟอร์โมซัส คำนี้มาจาก ฟอร์โมซา หากแปลความหมายจากภาษาโปรตุเกส แปลว่า สวยงาม หรือ Beautiful. แต่ถ้าใช้เป็นคำนาม ยิ่งนำมาเกี่ยวโยงกับปลาชนิดนี้ด้วยละก้อ สร้างความงุนงงครับ แต่มีความหมายนึง ที่น่าสนใจ คือ เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่นอกผืนดินของจีน ออกไปราว 100ไมล์ ในทะเลจีนใต้. จากแหล่งที่มา ทำให้พิจารณาได้ว่าต้องการที่จะสื่อถึงปลา อะโรวาน่าเขียว (Green Arowana.) หรือ Asian bonytongue. 

การกระจาย : พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ ทางตอนใต้ของไทย , กัมพูชา , ทางใต้ของเวียตนาม , คาบสมุทรมาเลย์ และส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำในสุมาตรา และ บอร์เนียว. ปลาชนิดนี้ ตัวผู้จะดูแลไข่ในปาก จนกว่าไข่แดงของลูกปลาจะหมดไปหลังจากการฟักเป็นตัวเสร็จสิ้นแล้ว จากรายงานระบุว่า ในฟารม์ การเพาะฟักครั้งนึงอาจจะให้ไข่ได้ในราว 50-150 ฟองทีเดียว.

ลักษณะภายนอก : มีจำนวนเกล็ดเส้นข้างลำตัว = 23-26 เกล็ด ; ครีบก้น = 25-28 ก้านครีบ ; ครีบหลัง =17-19 ก้านครีบ ; กระดูกขากรรไกรบนจะยาวมากคือ ยาวเกินขอบตาหลังไปมาก วัดได้ในราว 106.2-109.2% ของความยาวส่วนหัว. ; ,มีครีบหูที่ยาว.หากนำมาคำนวณ = 3 ของความยาวลำตัวมาตรฐาน ซึ่งยื่นยาวได้ถึงฐานครีบท้อง.

  • Scleropages aureus Pouyaud, Sudarto & Teugels 2003 สะ- เคลอร์-โอ-พา-กีส ออ-รี-อุส 

ออรีอุส Aureus : หมายถึง สีทอง (gold coloration.) ดังนั้น ทางอาจารย์ที่บรรยาย ต้องการที่จะสื่อถึง เรดเทลล์โกลด์เด้น อะโรวาน่า (Red Tail Golden Arowana ) หรือ อะโรวาน่าทองอินโดนีเซีย (Indonesian Golden.) 

การกระจาย : ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้พบใน แม่น้ำ Siak และ แม่น้ำBatanghari ในสุมาตรา อินโดนีเซีย.

ลักษณะภายนอก : มีจำนวนเกล็ดเส้นข้างลำตัว = 24-26 เกล็ด ; ครีบก้น = 26-28 ก้านครีบ ; ครีบหลัง =15-20 ก้านครีบ ; กระดูกขากรรไกรบนสั้น คือ ยาวไม่ถึงขอบหลังของตา วัดได้ในราว 99.1-101.8% ของความยาวส่วนหัว. ; ,มีครีบหูที่ยาว.หากนำมาคำนวณ = 3 ของความยาวลำตัวมาตรฐาน ซึ่งยื่นยาวได้ถึงฐานครีบท้อง.

  • Scleropages macrocephalus Pouyaud, Sudarto & Teugels 2003 สะ- เคลอร์-โอ-พา-กีส แมค-โร-เซฟ-อา-ลัส. 

แมค-โร-เซฟ-อา-ลัส. Macrocephalus คำนี้คงต้องการจะสื่อถึง หัวที่กำยำแข็งแรง (robust head) หากในภาษาอังกฤษ คำว่า robust หมายถึง แข็งแรง จากความหมายทั้งหมด เป็นตัวแทนของอะโรวาน่าอินโดนีเซียอีกชนิด คือ ซิ ลเวอร์อินโดนีเซียอะโรวาน่า (Silver Indonesian Arowana) ; ปลาอะวาน่าที่พบใน Pinoh ก็จะเป็น ซิลเวอร์อินโดนีเซียอะโรวาน่า แต่เป็น หางเทา หรือ เกรย์เทลล์ (Grey-tailed variety.) ส่วน ซิลเวอร์ อินโดนีเซียอะโรวาน่า ที่พบใน Kuning Banjar จะเป็น หางเหลือง หรือ เยลโล่เทลล์ (Yellow-tailed variety.) 

การกระจาย : พบบริเวณบอร์เนียวกลาง ในแม่น้ำ Barito. และทางบอร์เนียวตะวันตก ในแม่น้ำ Melawi และแม่น้ำ Pinoh. ซึ่งทั้งสองแม่น้ำนี้เป็นสาขาย่อยของ แม่น้ำคา เพาวส์. ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้พบได้ในน้ำไหลตั้งแต่ลำธาร ไปถึงแม่น้ำที่ขุ่นมัว ตัวผู้จะมีหน้าที่ดูแลและอมไข่ แต่ไข่ของปลาชนิดนี้ค่อนข้างจะใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.38 – 1.58 ซม.ทีเดียว.

ลักษณะภายนอก : มีจำนวนเกล็ดเส้นข้างลำตัว = 21-26 เกล็ด ; ครีบก้น = 24-27 ก้านครีบ ; ครีบหลัง =17-19 ก้านครีบ ; กระดูกขากรรไกรบนยาวถึงขอบหลังของตา วัดได้ในราว 106.3-108.9% ของความยาวส่วนหัว. ; ,มีครีบหูที่ยาว.หากนำมาคำนวณ = 3 ของความยาวลำตัวมาตรฐาน แต่ยาว ไม่ถึงฐานครีบท้อง.

  • Scleropages legendrei Pouyaud, Sudarto & Teugels 2003 สะ- เคลอร์-โอ-พา-กีส ลี-เจน-ดรีย์-อาย. 

ลี-เจน-ดรีย์-อาย. Legendrei เป็นชื่อชนิดที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับนักวิจัยอาวุโสชาวฝรั่งเศส ท่านอาจารย์ Marc Legendre .ปลาชนิดนี้เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ อะโรวาน่าอินโดนีเซียซุปเปอร์เรด , ชิลลี่เรด หรือ บลัด (Super Red , Chili or Blood Indonesian Arowana.) 

การกระจาย : อาศัยในน้ำที่มีสภาพเป็นกรด (Ph น้อยกว่า 5.5) หรือ แบล็ควอเธอร์ แถบทะเลสาปขนาดเล็กในป่าบริเวณขอบๆทะเลสาป Sentarum. ซึ่งอยู่ทางตอนบนๆซึ่งต่อเชื่อมกับแม่น้ำคาเพาวส์ ทางบอร์เนียวตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย.

ลักษณะภายนอก : มีจำนวนเกล็ดเส้นข้างลำตัว = 23-25 เกล็ด ; ครีบก้น = 25-27 ก้านครีบ ; ครีบหลัง =17-19 ก้านครีบ ; กระดูกขากรรไกรบนสั้นที่สุดในบรรดาทั้ง4ชนิด คือยาวถึงแค่กึ่งกลาง ของตา วัดได้ในราว 95.9-97.7% ของความยาวส่วนหัว. ; ความยาวของครีบหู หากนำมาคำนวณ = 3-3.5 ของความยาวลำตัวมาตรฐาน แต่ยาว ไม่ถึง ฐานครีบท้อง.

ถึงตรงนี้ หวังว่าเพื่อนๆผู้เลี้ยงจะได้ความรู้เพิ่มเติมกันไม่มากก็น้อยนะครับ

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com

ข้อมูลปลาอโรวาน่าเชิงวิชาการ

สวัสดีครับ

วันนี้ผมมีข้อมูลของปลาอโรวาน่าเชิงวิชาการมาฝากครับ
เป็นข้อมูลที่ผมได้มาจากเว็บไซต์ของ ด.ช.ฐาปกรณ์ นาชัยเพชร ชั้น ม.1/8 เลขที่ 8
อาจจะเป็นข้อมูลที่ผู้เลี้ยงปลาบางท่่านทราบแล้ว หรือ
อาจจะเป็นข้อมูลเชิงลึกให้กับอีกหลายๆท่านนะครับ
ยังไงลองศึกษาดูนะครับ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ

ปลาตะพัด หรือที่นิยมเรียกว่า อะโรวาน่า เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีวิวัฒนาการจากปลาโบราณเพียงเล็กน้อย จึงมี

ลักษณะคล้ายปลาโบราณ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Arowana (อะโรวาน่า) หรือ Arawana (อะราวาน่า) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scleropages formosusอยู่ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) นับว่าเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลาที่สืบพันธุ์ยาก ประกอบกับแหล่งที่อยู่ถูกทำลายไปได้รับความนิยมอย่างสูงของนักเลี้ยงปลาตู้ ในฐานะของปลาสวยงาม ราคาแพง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

สำหรับชื่อ “ตะพัด” เป็นชื่อที่เรียกกันในภาคตะวันออก แถบจังหวัดจันทบุรีและตราด ในภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า “หางเข้” ถูกค้นพบเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2474 ตามรายงานของสมิธที่ลำน้ำเขาสมิง จังหวัดตราด โดยระบุว่าในขณะนั้น ปลาตะพัดเป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในแม่น้ำลำคลองในภาคตะวันออก ไข่มีลักษณะสีส้มลูกกลมใหญ่ ฟักไข่ในปาก เนื้อมีรสชาติอร่อย นิยมใช้ทำเป็นอาหาร

ในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทย เชื่อว่าเหลือเพียงบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำตาปี และบริเวณแม่น้ำ ที่อำเภอละงู จังหวัดสตูลเท่านั้น ส่วนทางภาคตะวันออกที่เคยชุกชุมในอดีต ไม่มีรายงานการพบอีกเลย อีกที่หนึ่งที่ได้เคยได้ชื่อว่ามีปลาตะพัดชุกชุมคือ บึงน้ำใส อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ในอดีตเป็นแหล่งจับปลาตะพัดที่มีชื่อเสียงมาก จนมีชื่อปรากฏในคำขวัญประจำอำเภอ โดยชาวบ้านจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า “กรือซอ” แต่จากการจับอย่างมากในอดีต ทำให้ในปัจจุบัน ปริมาณปลาตะพัดลดน้อยลงจนแทบจะสูญพันธุ์

ลักษณะ
ปลาอโรวาน่าลำตัวยาว ด้านข้างแบน เกล็ดมีขนาดใหญ่สีเงินอมเขียวหรือฟ้าเรียงเป็นระเบียบอย่างสวยงาม เกล็ดบริเวณเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 24 ชิ้น ตาโต ปากใหญ่เฉียงขึ้นด้านบน ฟันแหลม ครีบหลังและครีบก้นยาวไปใกล้บริเวณครีบหาง สันท้องคม มีหนวด 1 คู่อยู่ใต้คาง ปลาตะพัดขนาดโตเต็มที่ได้ยาวได้ราว 90 เซนติเมตร หนักได้ถึง 7 กิโลกรัม พฤติกรรมมักจะว่ายบริเวณริมผิวน้ำ อาหารของปลาอโรวาน่า ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ตลอดจนแมลง สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก ปลาโตเต็มวัยสามารถโดดงับอาหารได้สูงถึง 1 เมตร

ที่อยู่
ปลาอะโรวาน่าอาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีสภาพใสสะอาด มีนิสัยค่อนข้างดุ ก้าวร้าว ขี้ตกใจ มักอาศัยอยู่ลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ ถ้าอยู่เป็นฝูง ก็จะอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ไม่เกิน 3-5 ตัว พบได้ในทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปลาในแต่ละแหล่งน้ำจะมีสีสันแตกต่างหลากหลายกันออกไป เชื่อว่าเกิดเนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่อยู่ของปลาอะโรวาน่า เช่น สีทอง สีแดง สีเงิน สีทองอ่อน เป็นต้น

การเลี้ยง
ปลามังกร หรือ ปลาอะโรวาน่า นับว่าเป็นสุดยอดปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดมา โดยตลอดซึ่งอาจจะเป็นเพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่มีรูปร่างสวยงาม มีเกล็ดขนาดใหญ่ และมีสีสันแวววาวมีหนวดซึ่งมีลักษณะคล้าย “มังกร” นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเชื่อต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับปลาอะโรวาน่า โดยชาวจีนเชื่อว่าผู้ใดเลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วจะร่ำรวยมีโชคลาภ จึงทำให้ปลามังกรชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด

สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยง

  • อะโรวาน่าเขียว (Green Arowana คือปลาตะพัดนี่เอง)
  • อะโรวาน่าแดงอินโดนีเซีย (Super Red) เป็นปลาที่มีสีแดงสดทั้งตัว ทั้งครีบและหาง มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ในแถบทะเลสาบขนาดเล็กในป่าบริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบเซนทารัม ซึ่งอยู่ทางตอนบนซึ่งต่อเชื่อมกับแม่น้ำคาปัวส์ ทางบอร์เนียวตะวันตก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่มีค่าความเป็นกรดค่อนข้างต่ำ (pH น้อยกว่า 5.5) จัดเป็นสายพันธุ์ที่มีราคาสูงรองลงมาจากอะโรวาน่าทองมาเลย์

ในตัวที่มีสีแดงตัดขอบเกล็ดคมชัดเจน เรียกว่า ชิลลี่ เรด (Chili Red) ตัวที่มีสีแดงทั้งตัว เรียกว่า บลัด เรด (Blood Red) หรือในบางตัวมีเหลือบสีม่วงในเกล็ด เรียกว่า ไวโอเล็ท ฟิวชั่น (Violet Fusion) ทั้งนี้สีปลาอ่อนหรือเข้มขึ้นอยู่กับตัวปลาเองและผู้เลี้ยง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน โดยพบในประเทศอินโดนีเซียเช่นเดียวกัน แต่พบคนละแหล่งน้ำ คือ เรด บี (Red B) หรือ บันจา เรด (Banja Red) (แต่ปัจจุบันนี้ได้ถูกเรียกว่า เรด อะโรวาน่า ((Red Arowana)) ซึ่งเมื่อยังเล็กจะมีสีแดงสดเหมือนปลาอะโรวาน่าแดงอินโดนีเซียทั่วไป แต่เมื่อโตขึ้นสีจะซีดลง จนเกล็ดมีเพียงสีเงินเหลือบเหลืองอ่อน ๆ สีครีบและหางเป็นสีเหลืองปนส้มเท่านั้น แลดูคล้ายปลาทองอ่อน และเป็นปลาที่มีราคาต่ำกว่า

ปัจจุบัน ได้มีการผสมข้ามสายพันธุ์ (Cross Breed) กับอะโรวาน่าทองมาเลย์ เป็นปลาลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ทั้ง 2 ที่มีสีทองแดง เรียกว่า เรด สเปลนเดอร์ (Red Splendor)

อนึ่ง ในปี ค.ศ. 1994 มีนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาอะโรวาน่าแดงอินโดนีเซียแยกออกมาต่างหาก โดยเรียกว่า Scleropages legendrei แต่ชื่อนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นสากลเท่าที่ควร

  • อะโรวาน่าทองอินโดนีเซีย (Red Tail Golden Arowana) เป็นปลาที่ได้รับความนิยม เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงมาก หากเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่พบในเอเชียด้วยกัน อีกทั้งมีความสวยงามมีสีทองเข้ม ครีบอก กระโดงต่าง ๆ และหาง มีสีแดงสด ด้วยเหตุนี้ จึงมีชื่อเรียก ว่า Red Tail Golden (นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า RTG) ครีบหลังและหางส่วนบนจะมีสีแดงคล้ำปนดำ บนหลังจะมีเกล็ดสีดำ เกล็ดสีทองจะมีขึ้นมาถึงเกล็ดแถวที่ 4 และอาจจะมีขึ้นประปรายบ้างบนแถวที่ 5 เรียกว่า ไฮแบ็ค (Hight Back) ปัจจุบันมีการผสมข้ามสายพันธุ์ (Cross Breed) กับอะโรวาน่าทองมาเลย์จนได้สายพันธุ์ปลาพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ไฮแบ็ค มากขึ้น โดยเกล็ดเงางามขึ้น และเกล็ดเปิดถึงแถวที่ 5 ได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีสายพันธุ์ที่สีอ่อนกว่า เมื่อเล็กมีลักษณะคล้ายปลาตะพัดหรืออะโรวาน่าเขียวมาก โตขึ้นครีบมีสีใสและเกล็ดเป็นสีเงินปนเหลืองอ่อน ๆ เรียกว่า “ทองอ่อน” และตัวใดที่ครีบมีสีเหลืองเข้มขึ้นมาหน่อย ก็จะถูกเรียกว่า “ทองหางเหลือง” (Yellow Tail) เป็นต้น

เป็นปลาที่พบในประเทศอินโดนีเชีย บริเวณบอร์เนียวเหนือ และเกาะสุมาตรา และส่วนของทางหางเหลืองก็อยู่ในแหล่งน้ำที่ต่างจากทองอินโดนีเซีย

อนึ่ง ในปี ค.ศ. 1994 มีนักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของอะโรวาน่าทองอินโดนีเซียแยกออกมาต่างหากว่า Scleropages aureu และในส่วนของทองหางเหลืองก็ได้มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์แยกออกมาอีกว่า Scleropages macrocephalus ในปี ค.ศ. 2003[1]

  • อะโรวาน่าทองมาเลย์ (Malayan Bonytongue, Cross Back) ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศมาเลเซีย แถบรัฐปะหัง เประ และมาเลเซียตะวันตก เป็นสายพันธุ์ของอะโรวาน่าที่มีราคาแพงที่สุด โดยอาจมีราคาสูงถึงหลักแสนบาท เนื่องจากเป็นปลาที่มีสีทองสดใสที่สุด เกล็ดมีความเงางามมาก เมื่อปลาโตเต็มวัยจะสีทองจะเปิดสูงข้ามบริเวณส่วนหลัง จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า Cross Back

อีกทั้งในบางตัวยังมีฐานสีที่บริเวณเกล็ดเป็นสีม่วงหรือสีน้ำเงินเรียก ว่า บลูเบส (Blue Base) ในบางตัวที่มีฐานเกล็ดเป็นสีเขียวเรียกว่า กรีนเบส (Green Base) ในขณะที่ตัวที่มีสีทองเหลืองอร่ามทั้งตัวโดยไม่มีสีอื่นปะปนจะเรียกว่า ฟูลโกลด์ (Full Gold)

อะโรวาน่าทองมาเลย์ เมื่อเทียบกับปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์อื่น ๆ จะพบว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุด อีกทั้งครีบและหางเล็กกว่า แต่มีสีสันที่สวยที่สุด

ไฮแบ็ค (Hight Back) เป็นปลาลูกผสมระหว่างทองอินโดนีเซียกับทองมาเลย์ ทำให้ลูกปลาที่เกิดออกมามีส่วสนเด่นของทั้งสองสายพันธุ์ คือ มีเกล็ดที่แวววาวกว่าทองอินโดทั่วไปและสีทองของเกล็ดจะเปิดถึงแถวที่ 5 มากกว่าทองอินโดปกติ

ชื่อเรียกในภาษาต่าง ๆ
ตะพัด (ภาษาภาคตะวันออก)
หางเข้ (ภาษาใต้)
กรือซอ (ภาษายาวี)
เคเลซ่า (ภาษามาเลย์)
โคโลโซ่ (ภาษาอินโดนีเซีย)
อะโรวาน่า (Arowana-ภาษาอังกฤษ-ชื่อที่เรียกทั่วไป)
มังกร (อีกชื่อที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป)
เล้งฮื้อ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว)

อ้างอิง
หนังสือคู่มือเลี้ยงปลาอะโรวาน่า โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล (พ.ศ. 2540) ISBN 974-86869-5-7

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com

Drama Manchester City

สวัสดีครับ

” ช็อกโลก!เรือยิง 2 เม็ดทดเจ็บแซง Q.P.R คว้าแชมป์พรีเมียร์ ”
เป็นหัวข้อข่าวที่ทำผมออกอาการ งง อย่างแรงครับ
อย่างที่ทราบกันนะครับ
วันนี้ก่อนการแข่งจะเริ่มต้น Man City และ Man U มีคะแนนเท่ากัน
ถ้า Man City ชนะ ก็จะได้แชมป์ไปครอง โดยไม่ต้องสนใจผลการแข่งขันของ Man U
และ จะเป็นแชมป์ครั้งแรกในรอบ 44 ปี ของสโมสรครับ
ทืมที่ลุ้นแชมป์กำลังจะเจอกับทืมที่หนึตกชั้นครับ
ภาษีต่างกันมากมายจริงๆครับ

จบครึ่งแรก Man City นำอยู่ 1-0 ครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย
แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นครับ
Q.P.R. ยิงตามมา 1-1 และแซงขึ้นนำเป็น 1-2
จริงๆผมไม่ค่อยได้สนใจผลการแข่งขันคู่นี้  เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบ Real Madrid ครับ
ดูผลฟุตบอลจนนาที 89 ซึ่งก็คิดว่าจบแล้ว
จึง sms ไปแสดงความยินดีกับเพื่อนที่เป็นสาวกผีแดงครับ
แต่ว่าเพื่อนผม sms กลับมา ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจซักเท่าไหร่
เลยไปเปิดดูผลการแข่งอีกครั้ง
งง ครับ
Man City ชนะครับ
พอดูรายละเอียด Man City ยิงนาที 90 ครับ
ด้วยนาทีนี้ ผลน่าจะออกมาเสมอ ซึ่งจะทำให้ Man U ได้แชมป์
แต่ป่าวครับ..Man City ยิงอีกลูก นาที 90+4
ทำให้ในที่สุด Man City ได้แชมป์ไปครองจนได้ครับ
อันนี้ ถือว่าเป็นเรื่อง Drama สำหรับ Man City จริงๆครับ

แต่ถ้าเป็น Drama ของผู้เลี้ยงปลามังกรอย่างเราๆ น่าจะเป็นการเจอ อาการปลาป่วยนะครับ
แต่จะ Drama มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผลที่เกิดขึ้นกับผู้เลี้ยงแต่ละท่านแล้วครับ

วันนี้ผมขอจบเรื่องแค่นี้นะครับ
ขอไป Drama ในกระแสกับ Man City ก่อนครับ

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com

Emperor Arowana : จักรพรรดิปลามังกรทอง

สวัสดีครับ

วันเสาร์ี ที่ 5 เดือนพฤษภาคม 2555 (5/5/55)
ผมถือว่าเป็นวันที่น่าจดจำอีกหนึ่งวันในชีวิตของผมเลยครับ
มีสิ่งใหม่ๆหลายๆสิ่ง ที่ผมได้เริ่มต้นกับมันในวันนี้
(จริงๆแล้วเริ่มต้นมานานแล้ว แต่ถือว่าวันนี้เป็นวันเปิดตัว)

1. ผมได้ทำตู้ปลา, บ่อปลา ใหม่ ที่บ้านใหม่ของผม
2. ปลาัมังกรทองชุดใหม่ที่ผมตั้งใจไปเลือก ก็ได้เข้ามาแล้ว ซึ่งพร้อมให้เพื่อนๆผู้เลี้ยงที่สนใจเข้ามาแวะเวียน,ติ,ชม
3.  ผมได้เปิดตัวเว็บไซต์ http://www.emperorarowana.com
ซึ่งผมตั้งใจว่า ในอนาคตเว็บไซต์นี้จะเป็นแหล่งข้อมูล,ข่าวสารอีกแหล่งหนึ่งให้เพื่อนๆผู้เลี้ยงที่สนใจเข้ามาหาข้อมูลหรือพูดคุยกันได้

สำหรับ “เรื่องเล่าของตั้น” ในสัปดาห์นี้
ขอแค่นี้ก่อนนะครับ
ผมยังต้องดูแลปลาที่เข้ามาใหม่อีกเพียบเลยครับ
แล้วจะมาอัพเดทเรื่องราวต่างๆที่ผมได้เจอมาในภายหลังนะครับ

ตั้น
Emperor Arowana
จักรพรรดิปลามังกรทอง
www.emperorarowana.com